วิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงเกษตรสร้างสรรค์สมหวังที่วังยาง


ที่อยู่

170 หมู่ 5 ตำบลวังยาง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ตำบลวังยาง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

ผู้ประสานแหล่ง

นางสาวกุลชญา คล้ายสุบรรณ โทร 0615871458

จุดเด่น

การนำวิถีชีวิตเกษตรกรนาแห้วเป็นจุดขาย โดยให้เกษตรกรวัยทำงานเป็นผู้สอนสาธิตวิธีการทำนาแห้วตั้งแต่การเพาะต้นกล้า การเตรียมนา การดำแห้ว การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยในทุกกิจกรรมนักท่องเที่ยวจะได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเพื่อสัมผัสบรรยากาศการดำเนินกิจกรรมของเกษตรกรในพื้นที่

ประวัติความเป็นมา

เมื่อปี พ.ศ. 2493 ได้มีการนำแห้วจีนเข้ามาปลูกเป็นครั้งแรกในอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี และต่อมาเริ่มเป็นที่นิยม จึงขยายพื้นปลูกแห้วจีนไปทั่วจังหวัดสุพรรณบุรี และพบว่าพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกแห้วจีนอยู่ในพื้นที่ อำเภอศรีประจันต์ ซึ่งแห้วจีนที่ปลูกมีคุณสมบัติ เนื้อแน่น กรอบ สีขาว รสชาติหวานมัน ผลผลิตสูง หัวใหญ่ และเป็นที่ต้องการของตลาด จึงทำให้เกษตรกรในตำบลวังยางนิยมปลูกแห้วจีนมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันถือว่าเป็นแหล่งผลิตแห้วจีนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และในปี 2559 แห้วจีนของอำเภอศรีประจันต์ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในชื่อ “แห้วสุพรรณ” ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ราคาแห้วจีนในตลาดตกต่ำ เกษตรกรมีรายได้ลดลง และมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกแห้วจีนเป็นอย่างอื่น จึงทำให้พื้นที่การปลูกลดลงอย่างต่อเนื่อง และสมาชิกในชุมชนเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น ด้วยสาเหตุนี้นายพิชิต รุ่งเรืองด้วยบุญ นายกเทศบาลตำบลวังยาง จึงคิดว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป จะทำให้อาชีพการปลูกแห้วจีน ภูมิปัญญาในการทำนาแห้วจีนสูญหายไปจากชุมชน ประกอบกับต้องการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน จึงวิเคราะห์และทบทวนถึงบริบทวิถีชีวิตของคนชุมชน พบว่าคนวังยางมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เป็นสังคมเกษตรกรรมที่มีอัตลักษณที่ยากจะหาที่ใดเหมือน และมีความเห็นตรงกันว่าจะนำวิถีชีวิตชนบทของชาวนาแห้วและทัศนียภาพที่งดงามของตำบลวังยาง มาเป็นองค์ประกอบหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชน

กิจกรรม

1.เรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรนาแห้ว สัมผัสไอดินกลิ่นทุ่งลงงมแห้วด้วยตนเองในแปลงนา ลงมือปลูกแห้วในแปลงเพาะพันธุ์ ปอกแห้ว และผลิตอาหารจากแห้วทานเอง เช่น ทับทิมกรอบ 2.ไหว้พระสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในตำบล ศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณสถานนับร้อยปี ของใช้โบราณจากทองเหลืองและศิลปะบ้านเรือนไทยในพิพิธภัณฑ์ และยังสามารถท่องเที่ยวไปตามเส้นทางท่องเที่ยวภายในตำบล ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถที่จะแวะพักค้างคืนกับบ้านโฮมสเตย์ของชุมชน ที่ได้มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย