บ้านสวนเมล่อน อำเภอบ้านโพธิ์


ที่อยู่

77/1 หมู่ 1 ตำบลท่าพลับ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

ผู้ประสานแหล่ง

นางสาวปคุณา บุญก่อเกื้อ โทร 0623944659

จุดเด่น

บ้านสวนเมล่อน อ.บ้านโพธิ์ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 4 ไร่ ใน ตำบลท่าพลับ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมเพาะปลูกเมล่อนในโรงเรือนจำนวน 12 โรงเรือน ที่เป็นไปมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) เลือกใช้เทคโนโลยีการให้น้ำอัตโนมัติแทนการให้น้ำระบบปกติ และยังมีโรงเรือนเพาะกล้าเมล่อน และปลูกพืชอื่น ๆ จำนวน 6 โรงเรือน นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่มีความสนใจด้านการเพาะปลูกเมเล่อนในโรงเรือนสามารถเข้ามาเยี่ยมชมศึกษาดูงาน มาเรียนรู้ได้ทุกขั้นตอนการผลิต โดยมีนางสาวปคุณา บุญก่อเกื้อ หรือ “พี่แก้ว” เจ้าของบ้านสวนเมล่อน อ.บ้านโพธิ์ เป็นผู้ถ่ายทอด แบ่งปันความรู้ จากประสบการณ์การลงมือปฏิบัติด้วยตนเองตั้งแต่ก่อตั้งฟาร์ม ซึ่งนางสาวปคุณา บุญก่อเกื้อ นั้นได้รับรางวัล เกษตรกรดีเด่น สาขาทำสวน ระดับจังหวัด ประจำปี 2565 ถือได้ว่าได้รับการยอมรับด้านความสามารถ การบริหารจัดการทุกกระบวนการภายในฟาร์ม และสามารถถ่ายทอดให้ผู้ที่มีความสนใจได้เรียนรู้ ให้คำปรึกษาและ นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับฟาร์มของตนเอง นอกจากการศึกษาเรียนรู้วิธีการเพาะปลูกเมเล่อนในโรงเรือนแล้ว ภายในบ้านสวนเมล่อน อ.บ้านโพธิ์ ยังมีกิจกรรม ฐานเรียนรู้อื่นๆไว้รองรับนักท่องเที่ยว ได้แก่ 1. นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเก็บผลผลิตเมล่อนสด ๆ จากแปลงได้ด้วยตนเอง 2. เข้าเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปผลิตไวน์เมล่อน 3. เยี่ยมชมบริเวณปลูกผักสวนครัวในตู้เย็นที่ถือว่าเป็นครัวหลังบ้านของฟาร์ม ซึ่งปลูกตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 4. มีร้านอาหารและเครื่องดื่มภายในฟาร์มไว้บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งเมนูอาหารแนะนำนั้นถูกคิดค้น ดัดแปลงจากเมล่อนภายในฟาร์ม ได้แก่ ยำเมล่อน เมล่อนปั่นสมูทตี้ ไอศกรีมเมเล่อน เป็นต้น ทางฟาร์มยังมีบริเวณปลูกผักสวนครัวเล็ก ๆ ที่เปรียบเสมือนเป็นครัวหลังบ้านของฟาร์มวัตถุดิบบางส่วนในเมนูอาหาร เช่น ผักกุยช่ายที่เป็นวัตถุดิบหลักที่ขาดไม่ได้ ในเมนูผัดไทยกุ้งสด แม่ครัวจะเก็บสดๆจากฟาร์ม มารังสรรค์เมนูพร้อมเสริฟให้แก่ลูกค้า เรียกได้ว่าเป็น“Farm To Table” จากฟาร์มสู่บนโต๊ะอาหารได้อย่างแท้จริง

ประวัติความเป็นมา

บ้านสวนเมล่อน อ.บ้านโพธิ์เกิดจากความต้องการของนางสาวปคุณา บุญก่อเกื้ออยากปลูกเมล่อน ให้สามีทานเอง จึงได้ศึกษา และทดลองลงมือปลูกลองผิดลองถูกด้วยตนเองตั้งแต่การเริ่มต้นสร้างโรงเรือน การเพาะปลูกตลอดจนเก็บเกี่ยว เพื่อให้สามารถจัดการฟาร์มได้ง่ายนางสาวปคุณา บุญก่อเกื้อจึงตัดสินใจเลือกใช้ระบบโรงเรือนอัจฉริยะในการควบคุมการผลิต เนื่องจากยังคงทำงานประจำ การเลือกใช้ระบบโรงเรือนอัจฉริยะทำให้สามารถจัดการฟาร์ม ได้เป็นอย่างดีจึงทำให้มีผลผลิตเมล่อนสำหรับขายมากขึ้นเรื่อย ๆ และค่อยๆ ขยายการปลูกเมล่อนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีทั้งหมด 12 โรงเรือน และได้รับมาตรฐานเกษตรปลอดภัย(GAP) ทั้งนี้บ้านสวนเมล่อนยังมีทั้งพืชผักสวนครัว และพืชอื่นๆ อาทิตะไคร้ ใบกะเพรา ถั่วฝักยาว มะเขือเทศราชินีเหลือง ข้าวโพดหวานฮอกไกโด องุ่น ฯลฯ ปัจจุบันบ้านสวนเมล่อน อ.บ้านโพธิ์มีการพัฒนาแปรรูปผลผลิตเมล่อนภายในฟาร์มที่มีขนาดเล็กไม่สามารถจำหน่ายตามมาตรฐานของผลสดได้ จึงมาแปรรูป เป็นไวน์เมล่อน ไอศกรีมเมล่อน สบู่เมเล่อน เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า(Value Added) และลดปริมาณการเกิดขยะให้ได้มากที่สุด(Zero Waste) และยังดำเนินการทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป ตลอดจนการจัดจำหน่าย ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยใช้เศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model)

กิจกรรม

1. ฐานการเรียนรู้ขั้นตอนการปลูกเมล่อน ตลอดจนการเก็บเกี่ยว 2. กิจกรรมเก็บผลผลิตต่างๆ ในฟาร์มได้ด้วยตนเอง 3. เข้าเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปผลิตไวน์เมล่อน 4. ถ่ายรูปภายในฟาร์ม จุดcheck - in ต่าง ๆ 5. มีร้านอาหารและเครื่องดื่มภายในฟาร์มไว้บริการนักท่องเที่ยว